ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว
ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว
ตำบลหาดเจ้าสำราญ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
1. ชายทะเลหาดเจ้าสำราญ
ชายทะเลหาดเจ้าสำราญ ตั้งอยู่ใน ตำบลหาดเจ้าสำราญ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีบรรยากาศเงียบสงบ อากาศเย็นสบาย และมีสัตว์ทะเลนานาชนิด ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ปูเสฉวน หอย แมงกะพรุน นอกจากนี้ยังมีที่พักพร้อมให้บริการ รวมไปถึง มีร้านค้า สามารถลงเล่นน้ำที่ หาดเจ้าสำราญ ได้อย่างสบาย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สำคัญ หาดเจ้าสำราญ ยังเป็นชายหาดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีประวัติเล่ากันมาว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เคยเสด็จมาที่นี่พร้อมด้วย สมเด็จพระเอกาทศรถ และทรงพอพระราชหฤทัย ในความงามของหาดนี้มาก ทรงประทับแรมอยู่หลายวัน จนชาวบ้านเรียกหาดนี้ว่า “หาดเจ้าสำราญ” และในหลวงรัชกาลที่ 6 ก็ทรงโปรดเกล้าให้สร้างค่ายหลวงขึ้นชื่อว่า ค่ายหลวงบางทะลุ ตามชื่อของตำบล บางทะลุ ที่เป็นที่ตั้ง โดยมีพระตำหนักบริเวณริมหาดเรียกว่า พระตำหนักหาดเจ้าสำราญ ภายหลังก็ทรงได้เปลี่ยนชื่อตำบลเสียใหม่เป็น ตำบลหาดเจ้าสำราญ เพราะด้วยชื่อเดิมเห็นว่าไม่เป็นมงคล
2. วัดดอนบ้านใหม่
วัดดอนบ้านใหม่ เป็นวัดประจำชุมชนชาวตำบลหาดเจ้าสำราญ แต่เป็นวัดเก่าแก่อายุน่าจะเกิน 300 ปี สันนิษฐานตามหลักฐานที่เห็น คือ โบสถ์มหาอุตม์ไม่มีหน้าต่าง ใช้ประกอบพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลังสมัยโบราณ โดยเฉพาะยามมีศึกสงคราม สำหรับวัดดอนบ้านใหม่เมื่อบูรณะใหม่ดูสวยงามสะอาดตา ร่มรื่น เงียบสงบ แต่ที่สำคัญทางวัดได้จัดสร้างรูปหล่อเจ้าแตงโม หรือสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) พระมหาเถระ ที่ปฏิบัติธรรมกรรมฐานมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี วัดดอนบ้านใหม่มีจุดที่น่าสนใจหลายจุด
3. วัดบางทะลุ
วัดบางทะลุ ซึ่งมีหลวงพ่อ “อิ๋น” และหลวงพ่อพระครูถาวรวชิรธรรม (คุณพ่อไห สุนทโร) เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งท่านได้มีบทบาทหลายด้านเพื่อบำรุงวัดและเผยแพร่ศาสนาไว้มากมายท่านได้สร้างคุณงามความดีไว้มากมาย ซึ่งเป็นที่เคารพรักของประชาชนในตำบลหาดเจ้าสำราญอย่างมากมาย และหากอยากทราบ ว่าแต่เดิม คนเพชรบุรีหน้าตาเป็นอย่างไรต้องมากราบและชมพระในโบสถ์วัดบางทะลุนี้ เพราะเชื่อกันว่าเป็นตามหน้าตาคนเพชรบุรี
4. วัดหาดเจ้าสำราญ
วัดหาดเจ้าสำราญ สร้างเมื่อ พ.ศ.2497 โดยพระครูวชิรสุขารมย์ (ย้ง ชนิโนรโส) เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกเป็นวัดราษฎร์เกิดจากศรัทธาของประชาชน และพระครูวชิรสุขารมย์ (ย้ง ชิโนรโส) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง มีประชาชนบริจาคที่ดิน และต้นไม้ให้สร้างวัด โดยพระครูวชิรสุขารมย์ เป็นผู้ก่อสร้างและออกแบบด้วยตนเอง มีพระลูกวัดและประชาชนเป็นลูกมือช่างและมีโอกาสได้ผลิตช่างไม้ (ทรงไทย) หลายคนด้วยกัน และได้นับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.2510 และเป็นที่รักษาโรคแพทย์แผนไทยอีกด้วย
หลวงพ่อย้ง วัดหาดเจ้าราญ หรือ พระครูวชิรสุขารมย์ นามเดิม ย้ง นามสกุล เจียรพันธ์ เกิดเมื่อวันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2454 ชีวิตในวัยเยาว์ท่านได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนวัดบางทะลุ แต่เนื่องจากครอบครัวมีฐานะค่อนข้างยากจน และโยมมารดามีสุขภาพไม่แข็งแรง ท่านจำต้องเข้าออกโรงเรียนอยู่หลายครั้งเพื่อกลับมาช่วยทางบ้านและคอยปรนนิบัติดูแลโยมมารดา เมื่ออายุล่วงเข้าการเกณฑ์ทหาร ท่านได้เข้าอุปสมบทเมื่ออายุ 24 ปี ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ณ พัทธสีมาวัดบางทะลุ มีพระอธิการอิ๋น วัดบางทะลุ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อแพร วัดสมุทรโคดม(พะเนิน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์กุ้ย วัดสมุทรธาราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “ชิโนรโส”
5. โครงกระดูกวาฬขนาดใหญ่
สถานที่จัดแสดงโครงกระดูกวาฬบรูด้า บริเวณข้างโบสถ์วัดหาดเจ้าสำราญ อ.เมือง จ.เพชรบุรี โครงกระดูกนี้ได้จากวาฬที่ตายแล้วลอยมาเกยตื้นที่หาดเจ้าสำราญเมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2518 เป็นส่วนท่อนลำตัวและส่วนหัว ส่วนท่อนหางอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งหาชมได้ยาก
การเดินทาง ไปยัง หาดเจ้าสําราญ
หาดเจ้าสําราญ อยู่ห่างจากตลาดเมืองเพชรบุรี 15 กิโลเมตร สามารถมาตามถนนทางหลวงหมายเลข 3177 ผ่านสถาบันราชภัฏเพชรบุรีไปราวๆ 13 กิโลเมตรก็จะถึงตัวหาดเจ้าสำราญ